ถ้าไม่ตกงาน คงไม่มีวันนี้… พลิกชีวิตด้วยการทำเกษตรบนที่ดิน 1 งาน
คุณ อารีย์ เพ็งสุทธิ์ วัย 46 ปี มนุษย์ออฟฟิศแห่งยุค ที่มีอันต้องถูกเลิกจ้างจากตำแหน่งผู้บริหาร ระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกคอร์ปอเรต มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นผลจากการยุบแผนกบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์เงินเดือนทุกคน ใชช่วงที่เศรษธกิจแย่ บริษัทหลายๆแห่งก็ต้องลดต้นทุนลงเพื่อให้บริษัทนั้นคงอยู่ต่อไปได้ หากแต่ไม่เป็นผลดีกับเราๆที่เป็นลูกจ้างซักเท่าไรนัก
แต่… คุณ อารีย์ ก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่อโชคชะตา อาศัยความรู้เก่าที่ตนเองเคยมีเคยศึกษา คือ คุณ อารีย์ บอกว่าเมื่อก่อนเลยลองเพาะเห็ดอยู่บ้าง ก็เลยเริ่มต้นจากการเพาะเห็ด คุณ อารีย์ เจอที่ดินประมาณ 1 งาน ว่างอยู่ในซอยคู้บอน 27 แยก 8 ซึ่งไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร แต่เห็นว่าทำเลดีอยู่ใกล้บ้าน น่าจะสะดวกในการเดินทาง ไป-กลับ เพื่อดูแลสวนผักของตนเอง จึงทำสัญญาค่าเช่า 3000 บาท/เดือน และ ดำเนินการขอ น้ำ-ไฟ เดินสายเข้ามาในที่ดิน แล้วก็ทำการสร้างโรงเพาะเห็ด จำนวน 2 โรง ขนาด 4×6 เมตร
จากนั้นก็ลงก้อนเห็ดนางฟ้าภูฎาน จำนวน 2,500 ก้อน ไม่นานหลังจากนั้น เห็ดล๊อตแรกที่ลงไว้ก็เริ่มออกดอกออกผลให้เก็บเกี่ยว โดยล๊อตแรกเก็บได้ประมาณ 80 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งครั้งแรกนี้ยังหาลูกค้าไม่ค่อยได้เลยติดต่อขายกับคนคุ้นเคย และ เพื่อนร่วมงานเก่าๆ ซึ่งไปติดต่อและทำการตลาดไว้ตั้งแต่เนิ่นๆก่อนที่เห็ดจะออกดอก เมื่อเห็ดออกดอกแล้วก็เก็บส่งขายได้เลย รวมแล้วล๊อตแรกทำเงินได้ 9600 บาท
ประกอบกับได้ไปรู้จักกับคุณลุงที่อยู่ในละแวกบ้าน ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอย่างดี เลยชักชวนให้ท่านมาช่วยอีกแรง และ เห็นว่ามีช่องทางพอเป็นไปได้ เลยเริ่มลงมือปลูกพืชผักอย่างอื่นเพิ่ม
คุณ อารีย์ เริ่มลงมือปลูกพืชผักสวนครัว โดยใช้แนวคิดที่ว่า “ปลูกไว้กิน เหลือค่อยขาย” ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อกับข้าวในแต่ละมื้อไปได้เยอะเลยทีเดียว พืชที่ปลูกนั้นส่วนใหญ่เป็นพืชผักสวนครัวที่ขายได้คาราดี มีความต้องการของตลาดตลอดเวลา เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือ ชะอม ต้นหอม พริก เป็นต้น เพราะปลูกกินเอง คุณ อารีย์ จึงเน้นว่าไม่ใช้สารเคมีและยากำจัดแมลง
แต่ก่อนจะปลูกพืชพวกนี้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการปรับหน้าดินก่อน คุณ อารีย์ ได้นำปุ๋ยขี้วัวมาลง แล้วก็ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวะภาพ เพื่อเร่งปฎิกิริยาให้ปุ๋ย ถึงตอนนี้ดินก็ดีพร้อมสำหรับทำการเพาะปลูกแล้ว
ในช่วงเริ่มต้นนี้อาจจะยังไม่มีรายได้ เพราะกว่าพืชผักที่ปลูกไว้จะเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จึงทำให้ระหว่างนี้ คุณ อารีย์ ต้องหารายได้เสริมมาทดแทนในช่วงเริ่มต้น จากการเพาะพืชที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆในการเจริญเติบโต เช่น ถั่วงอก ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง ซึ่งเป็นพืชที่ใช้เวลาในการเพาะไม่เกิน 7 วัน ก็สามารถขายได้แล้ว
จุดเริ่มต้นจากศูนย์ เริ่มต้นจากการไม่มีที่ดิน สู่การเช่าที่ดิน 1 งาน ทำโรงเพาะเห็ด และ แปลงเกษตรแบบง่ายๆ ใช้เวลาไม่กี่เดือนจนพัฒนาก่อตั้งสวนเกษตรของตนเองในชื่อ “เฮย์เดย์ ฟาร์ม” โดยอาศัยกลุ่มลูกค้าหลักคือ กลุ่มเพื่อนที่ทำงานออฟฟิศที่รู้จักกัน และด้วยความที่เป็นพืชผักปลอดสารพิษ จึงทำให้กลุ่มพนักงานออฟฟิศที่รักสุขภาพสนใจเป็นพิเศษ มีบริการส่งผักถึงที่ ผักสด มีคุณภาพ รักษามาตรฐานตรงนี้เอาไว้ให้ได้ ถ้าของเราดีลูกค้าก็จะบอกต่อ ปากต่อปาก เป็นการโปรโมทให้เราไปอีกที ถือว่าเป็นไอเดียการทำการตลาดที่ยอดเยี่ยมมาก
สำหรับผักที่ส่งขายนั้น พวกเห็ด และ ต้นอ่อนต่างๆ จะส่งให้พนักงานออฟฟิศในตัวเมือง ส่วนแตงกวา ถั่วฝักยาว และ ผักสวนครัวอื่นๆ จะไปส่งตามร้านค้า ร้านอาหารตามสั่ง ร้านส้มตำ แถวบ้าน มีลูกค้าตั้งแต่ร้านค้ารถเข็น ไปจนถึงร้านที่อยู่ในตึกแถว และ ร้านอาหารใหญ่ๆ แรกๆที่ไปขายก็ไม่มีคนรู้จักเรา ไม่ค่อยมีคนซื้อหรอก แต่เขาเห็นว่าผักเราดูสดใหม่น่าทานเขาก็ค่อยๆหันมาซื้อกับเรามากขึ้น
“เมื่อก่อนเห็นเงินพันสองพันเฉยๆ ตอนนี้ ร้อยสองร้อยกว่าจะได้มามันยากนะ แต่ก็หาได้ทุกวันอยู่ที่ขยันมากน้อยแค่ไหน อย่างแตงร้าน ออก 10 กิโล ขายหมดได้ 300 บาท แตงกวาอีก 5 โล ต้นอ่อน 20 ถุง ทำไปทำมาวันนั้นพันนึงได้แล้ว” คุณ อารีย์ กล่าว
สุดท้ายนี้อยากฝากไปยัง มนุษย์เงินเดือนหลายๆคนที่อาจต้องมาเจอเหตุการณ์เดียวกันนี้ว่า บางครั้งสิ่งที่ไม่คาดคิดก็มักจะเกิดขึ้นกับเราได้ เช่นการถูกปลดออกจากงาน การเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นไม่ใช่เป็นอาชีพที่มั่นคงที่สุดในชีวิตเสมอไป เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาแบบนี้ด้วย ยิ่งด้วยเศรษฐกิจแบบนี้อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้
ข่าวล่าสุด คุณ อารีย์ ได้งานประจำใหม่แล้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้ง เฮย์เดย์ฟาร์ม โดยใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกงาน และ วันหยุด แวะเวียนมาดูแลแปลงเกษตรอยู่เป็นประจำ ทำให้มีทั้งรายได้จากงานหลัก และ รายได้เสริมจากการทำเกษตร เรื่องราวของ คุณ อารีย์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งบทเรียนคนสู้ชีวิตที่น่ายกย่องและเป็นแบบอย่างที่ดี
ขอบคุณข้อมูลจาก : คุณเอีย-อารีย์ เพ็งสุทธิ์ , มติชน , เส้นทางเศรษฐี