เสวียนหมักปุ๋ยภูมิปัญญาท้องถิ่น ลดขยะ ต้นไม้แข็งแรง

เสวียนหมักปุ๋ยภูมิปัญญาโบราณ ลดขยะ ต้นไม้แข็งแรง

เสวียนคืออะไร? เสวียนคือภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษ สมัยยังไม่มีสารเคมีเลยทีเดียว โดยปัจจุบันมักจะเห็นได้ทั่วไปในชนบท เป็นการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นแผ่นๆแล้วนำมาสานเป็นวงกลม จากนั้นนำไปครอบโคนต้นไม้ไว้ นั่นคือที่เราเรียกกันว่า “เสวียน” นั่นเอง

ทำไมต้องใช้ไม้ไผ่ในการทำเสวียน?

เพราะไม้ไผ่เป็นไม้ที่มีความยืดหยุ่นสูง ทนทาน ดัดให้โค้งรอได้ง่ายและเหนียว ทนต่อสภาพอากาศ เมื่อมีเวลาว่างจากการทำไร่ทำนา ชาวบ้านสมัยก่อนก็จะใช้เวลามานั่งสานเสวียนที่ทำจากไม้ไผ่ เพื่อเอาไว้เก็บเศษใบไม้ใบหญ้าเพื่อที่จะหมักปุ๋ยเพื่อเป็นแร่ธาตุตามธรรมชาติให้กับต้นไม้

เมื่อสานเสวียนให้มีขนาดใหญ่กว่าต้นไม้พอสมควรแล้ว ก็เอาเสวียนเอาไปครอบไว้ที่โคนต้นไม้ได้เลย จากนนั้นทำการกวาดเศษใบไม้ใบหญ้าทุกชนิด เทลงไปในเสวียน ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาจากต้นไม้ใหญ่ก็จะร่วงลงมาใส่ในเสวียนที่โคนต้น กลายเป็นปุ๋ยโคนต้นไป เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานวันเข้ายิ่งทับถมกันมากขึ้น ก็จะเกิดการย่อยสลาย กลายเป็นปุ๋ยและไหลลงสู่ดิน กลับไปเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้อีกครั้งหนึ่ง วนเวียนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ แร่ธาตุในดินโคนต้นไม้ก็จะมากตามกองใบไม้ที่ทับถม

วิธีการใช้เสวียนหมักปุ๋ยให้ต้นไม้

1. ตัดไม้ไผ่ลวกหรือไม่ไผ่ซ่าง ความยาวประมาณ 1 เมตรเพื่อใช้เป็นเสาหลักปักลงดิน ตัดแต่งส่วนที่จะปักลงดิให้แหลมหรือเป็นลิ่มเพื่อง่ายต่อการตอกลงดิน

2. ตอกเสาหลักลงดิน ให้เหลือส่วนที่พ้นดิน ประมาณ 60 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลัก ประมาณ 30 เซนติเมตร กรณีต้นไม้ใหญ่จะใช้ประมาณ 13-15 หลัก

3. ผ่าไม้ไผ่ให้เป็นเส้นยาวแล้วนำมาสานขัดไปมารอบเสาหลักที่ตอกไว้รอบโคนต้นไม้

ข้อดีของการใช้เสวียนหมักปุ๋ย

1. ลดการเผาใบไม้และวัชพืชต่างๆ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ

2. ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย เนื่องไม่ต้องซื้อปุ๋ย หรือถ้าจะซื้อก็น้อยมากค่ะ

3. ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี ปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

ภูมิปัญญาชาวบ้านรานี่แหละค่ะ ดีที่สุดแล้วว่าไหม อย่าลืมนำไปทดลองทำกันดูนะคะ

Facebook Comments

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *