ปลูกผักอินทรีย์ทั้งปียังไงให้ไม่ซ้ำกัน เก็บขายสนุก เกษตรกรสร้างรายได้ตลอด 365 วัน
ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเกษตรกรรมในวันนี้ คุณปลิว บอกว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่องความพอเพียง โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาผสมผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาปรับใช้ จนเกิดความแม่นยำในการเก็บเกี่ยว รวมถึงระบบน้ำหยดเพื่อให้น้ำกระจายไปสู่พืชอย่างสม่ำเสมอ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำปุ๋ยหมัก และเพาะปลูกพืช เพื่อการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ การปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการกัดเซาะหน้าดิน รวมถึงการอนุรักษ์น้ำ
ขณะเดียวกัน คุณปลิวได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง โดยการแบ่งปันวิธีการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวพืชผลไปจนถึงวิธีสร้างกำไรตลอดทั้งปีด้วยการวางแผนอย่างชาญฉลาด โดยคุณปลิวคิดว่า ทุกคนควรรักในสิ่งที่ตัวเองทำและมีความมุ่งมั่น เพื่อจะได้นำไปสู่ความสำเร็จและไปถึงจุดหมายที่ต้องการ ผมรักในสิ่งที่ตัวเองทำและพร้อมมุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในชุมชน
ทุกวันนี้ คุณปลิว ตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาขายผลผลิต เขาใช้วิธีการจัดส่งผักให้สดตลอดเวลา และได้แบ่งปันวิธีนี้ให้กับเกษตรกรผู้อื่น เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี เขาหวังว่าสิ่งที่ทำจะช่วยสร้างเครือข่ายของเกษตรกรในชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อให้เกษตรกรรุ่นต่อไปมีอาชีพที่ยั่งยืนและมีชีวิตที่ดีขึ้น
คุณปลิว ลงนามความร่วมมือกับ หอการค้ามหาสารคาม จัดทำ โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ที่บ้านหนองบัว ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม จนประสบผลสำเร็จ มีผลผลิตขายได้ทุกวัน และมีเงินหมุนจากผลผลิตตลอด 365 วัน
คุณปลิว เล่าว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนและเกษตรกรรักบ้านเกิด โดยทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทาง รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการศึกษาดูงาน และเพิ่มขีดความสามารถให้เกษตรกร เยาวชน และผู้สนใจที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม
บนพื้นที่ 22 ไร่ ของคุณปลิวใช้ปลูกผัก ปลูกไผ่นอกฤดู เพาะเห็ดในโรงเรือน ซึ่งทุกกิจกรรมจะเน้นความปลอดภัยไปจนถึงขั้นมาตรฐานอินทรีย์ รวมทั้งเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และสร้างเครือข่ายให้สมาชิกในหมู่บ้านได้เดินตามรอยพ่อหลวง เพื่อชีวิตที่มีความสุขและยั่งยืน คุณปลิวได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและได้จุดประกายให้เข้าใจถึงกลยุทธ์การเก็บเกี่ยว แบบระบุช่วงฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกพืชผัก และสร้างปฏิทินเพาะปลูกตลอดปี 365 วัน โดยปลูกพืชคละชนิดกัน ไล่ไปตามอายุเก็บเกี่ยว โดยอาศัยปฏิทินเพาะปลูกที่คิดขึ้นเอง ทำให้โรคและแมลง “งง” จนมากินผักไม่ถูก
เคล็ดลับปลูกผัก 365 วัน ของคุณปลิวอยู่ที่ แบ่งพื้นที่ปลูกออกเป็น 60 แปลง แปลงละครึ่งงาน ในพื้นที่ดังกล่าวจะยกร่องปลูกพืชสลับชนิดกัน 7 แปลง แต่ละแปลงปลูกพืชสลับแถว สลับแปลงกัน เช่น ขึ้นฉ่าย ผักสลัด หอมแบ่ง ผักโขมแดง ผักบุ้งจีน กะเพรา โหระพา ผักพื้นบ้าน เป็นต้น โดยทยอยปลูกพืชแต่ละชนิดห่างกัน แปลงละ 1 วัน จนครบ 60 วัน
นอกจากนี้ ยังปลูกพืช 7 ชนิด 7 แถว ห่างกัน 1 สัปดาห์ เริ่มจากสัปดาห์แรก ปลูกขึ้นฉ่าย ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 60 วัน สัปดาห์ที่ 2 ปลูกผักสลัด อายุเก็บเกี่ยว 50 วัน สัปดาห์ที่ 3 ปลูกหอมแบ่ง อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน สัปดาห์ที่ 4 ปลูกผักโขมแดง อายุเก็บเกี่ยว 35 วัน สัปดาห์ที่ 5 ปลูกผักบุ้งจีน อายุเก็บเกี่ยว 30 วัน สัปดาห์ที่ 6 ปลูกผักสวนครัวที่มีอายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน เช่น กะเพรา โหระพา สัปดาห์ที่ 7 ปลูกผักพื้นบ้าน เช่น สะระแหน่ พริก ฯลฯ
เมื่อครบระยะเวลาเก็บเกี่ยวพืชผักเสร็จ คุณปลิวจะพลิกดินกลบตอทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดินก่อนเริ่มปลูกผักรอบใหม่ โดยไม่ปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำที่เดิม เพื่อป้องกันโรคแมลงรบกวน ผลผลิตที่ได้คุณปลิวป้อนเข้าสู่ตลาดใน 3 ช่องทาง คือ ขายในแบรนด์ ออร์แกนิค เฟรช ในห้างเดอะมอลล์ และแมกซ์แวลลูทั่วประเทศ แบรนด์แก้วพะเนาว์ ออร์แกนิค ฟาร์ม ขายในจังหวัดมหาสารคาม และตลาดหน้าฟาร์ม ส่วนแบรนด์ The Kreenana ขายส่งถึงบ้านในจังหวัดนครราชสีมา วางแผนการผลิตและการตลาดในลักษณะนี้ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าสูงถึง 8 แสนบาท/ไร่ ทีเดียว
อบรมยุวเกษตร ทำโครงการ “ธนาคารใบไม้”
คุณปลิว และสำนักงานเกษตรอำเภอยางสีสุราช ได้ร่วมกันส่งเสริมให้กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่าหมากดำ ตำบลนาภู อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม จัดทำโครงการธนาคารใบไม้ โดยมอบหมายให้เด็กนักเรียนเก็บใบไม้นำมาทำปุ๋ยหมัก ขายในราคากิโลกรัมละ 5 บาท สร้างรายได้เสริมแก่นักเรียนและโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง
คุณปลิว บอกว่า การจัดสร้างธนาคารใบไม้ เป็นการหยุดเผาใบไม้ ลดปัญหามลพิษ เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมาเก็บใบไม้เพื่อทำปุ๋ยหมักแบบไม่ต้องพลิกกอง ตามสูตรวิศวกรรมแม่โจ้ เป็นเรื่องง่ายที่เด็กทุกเพศทุกวัยทำได้ โดยใช้เศษใบไม้ทุกชนิด จำนวน 3 ส่วน นำมาหมักรวมกับปุ๋ยคอก 1 ส่วน ใช้ระยะเวลาหมักประมาณ 2 เดือน โดยไม่ต้องพลิกกอง เพราะหมักในตะกร้าตาข่าย ช่วยระบายความร้อน เมื่อหมักครบระยะเวลาที่กำหนด จะได้ปุ๋ยใบไม้สำหรับใช้ปรุงดินสำหรับปลูกพืชผักอินทรีย์
คุณปลิว กล่าวว่า การปลูกผักอินทรีย์ ต้องใช้ ดิน 1 ส่วน และ ปุ๋ยใบไม้ 1 ส่วน จึงจะช่วยให้พืชเติบโตได้ดี ปัจจุบัน คุณปลิวรับซื้อปุ๋ยใบไม้ทั่วไป ขายในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ล่าสุด คุณปลิวได้แนะนำให้ทางโรงเรียนแยกหมักปุ๋ยตามชนิดของพืช เช่น ปุ๋ยใบก้ามปู เพราะใบไม้ชนิดนี้จะให้ธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชเป็นอย่างดี รวมทั้งแนะนำให้ผลิตปุ๋ยใบมะขาม เพราะใบไม้ชนิดนี้มีธาตุโพแทสเซียม (K) ช่วยเพิ่มความหวานผลไม้ได้ดีเยี่ยม โดยคุณปลิวยินดีรับซื้อปุ๋ยใบก้ามปู และปุ๋ยใบมะขาม ในราคาสูงกว่าปกติ คือ กิโลกรัมละ 8-9 บาท ซึ่งจะช่วยให้เด็กนักเรียนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย และเพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการ นิสสันได้สมทบ 999 เท่า ของยอดขายของใบไม้ที่ได้ให้แก่ชมรมยุวเกษตรของโรงเรียนท้องถิ่นอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : sentangsedtee.com